โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือ โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ (Erectile dysfunction)

หมายถึง การที่อวัยวะเพศไม่สามารถแข็งตัวได้อย่างเพียงพอ ที่จะมีเพศสัมพันธ์ หรือบางคนอาจจะแข็งตัวได้ไม่นานพอ ทำให้มีปัญหาทางกายและจิตใจตามมา  เช่น  ความมั่นใจในตัวเองลดลง  มีปัญหาเรื่องชีวิตคู่  หรือ ไม่มีความมั่นใจในตัวเองเวลาที่จะมีกิจกรรมทางเพศ

อุบัติการณ์ในการเกิดโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศพบมากขึ้นตามอายุ โดยพบว่าผู้ที่มีอายุ 40-49 , 50-59, 60-70 ปี จะพบโรคนี้ได้ร้อยละ 20.4, 46.3, 73.4  ตามลำดับ  ซึ่งภาวะเสี่ยงในการเกิดโรค เช่น

  • มีโรคประจำตัว เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ  เบาหวาน  ความดันโลหิตสูง  ไขมันในเลือดสูง  โรคซึมเศร้า
  • ดื่มสุรา  สูบบุหรี่
  • ขาดการออกกำลังกาย  พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • เคยผ่าตัดบริเวณอุ้งเชีงกราน  ผ่าตัดหลัง  ผ่าตัดต่อมลูกหมาก  ผ่าตัดท่อปัสสาวะ
  • มีอุบัติเหตุที่กระดูกสันหลัง  อุ้งเชิงกราน  และที่อวัยวะเพศ
  • ทานยาบางชนิด เช่น  ยาโรคความดันโลหิตสูงบางตัว  ยาโรคจิตเภท  ยาโรคซึมเศร้า  ยาต่อมลูกหมากบางตัว  เป็นต้น

กลไกการแข็งตัวของอวัยวะเพศ

  1. ต้องมีสิ่งเร้ากระตุ้นให้สมองหลั่งสารสื่อประสาท  ไปกระตุ้นให้อวัยวะเพศหลั่งสารไนตริกออกไซด์
  2. สารไนตริกออกไซด์ จะกระตุ้นให้เส้นเลือดแดงในอวัยวะเพศขยาย 2 เท่า  ทำให้เลือดเข้าไปในเนื้อเยื่อของอวัยวะเพศได้
  3. เมื่อเลือดเข้าไปในอวัยวะเพศ  จะทำให้เนื้อเยื่ออวัยวะเพศขยายตัว  และไปกดทับเส้นเลือดดำเข้ากับปลอกหุ้มอวัยวะเพศ  ทำให้เลือดถูกกักเก็บในอวัยวะเพศได้  เกิดการแข็งตัวของอวัยวะเพศอย่างเต็มที่

สาเหตุของการเกิดโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ  แบ่งได้เป็น 4 สาเหตุ คือ

  1. ความผิดปกติที่เส้นเลือดในอวัยวะเพศ

พบได้ประมาณ ร้อยละ 70 ของผู้ป่วย  และเป็นสาเหตุหลักในการเกิดโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ  ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ

  1. เส้นเลือดแดงที่เข้าไปเลี้ยงอวัยวะเพศอุดตัน  ทำให้เลือดเข้าไปเลี้ยงอวัยวะเพศได้ไม่เพียงพอ
  2. ความผิดปกติกลไกของการกดทับเส้นเลือดดำ  ทำให้เลือดไม่สามารถกักเก็บในอวัยวะเพศได้
  3. มีความผิดปกติร่วมกันระหว่างเส้นเลือดแดงอุดตัน  และกลไกการกดทับเล้นเลือดดำผิดปกติ
  4. ความผิดปกติที่ระบบประสาท

ผู้ป่วยอาจจะมีความผิดปกติได้ตั้งแต่ระดับสมอง  ไขสันหลัง  เส้นประสาทในอุ้งเชิงกราน  เส้นประสาทที่อวัยวะเพศ  เป็นต้น

  1. ความผิดปกติของภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย

ผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย  อาจจะมีอาการอื่นๆร่วมด้วย  เช่น  ความรู้สึกทางเพศลดลง  ความต้องการทางเพศลดลง  อวัยวะเพศแข็งตัวลดลงโดยเฉพาะในตอนเช้า  รู้สึกไม่มีแรง  อ่อนเพลีย  ความตั้งใจในการทำงานลดลง  หรืออาจจะพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูงหรือต่ำกว่าปกติ

  1. ความผิดปกติของภาวะทางจิตใจ

ในอดีตมีความเชื่อว่า   90  %  ของผู้ป่วยที่มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศเกิดจากภาวะทางจิตใจ  แต่ปัจจุบันพบว่า  เกิดจากโรคทางกายมากกว่าโรคทางจิตใจ

แต่ภาวะทางจิตใจที่ส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศ  สามารถพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะความเครียด  โรคซึมเศร้า  โรคจิตเภท  หรืออาจจะเกิดจากยาทางด้านจิตเวชได้เช่นเดียวกัน

การตรวจและการวินิจฉัย

เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์  แพทย์จะทำการซักประวัติ  เรื่องลักษณะการแข็งตัว  ความต้องการทางเพศ  ความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์  ประวัติการเจ็บป่วย  การผ่าตัดในอดีต  โรคประจำตัว  และยาที่ใช้อยู่เป็นประจำฃ

ตรวจร่างกาย  เพื่อประเมินความผิดปกติที่อวัยวะเพศ  ขนาดของลูกอัณฑะ  และตรวจดูต่อมลูกหมากในบางราย

การวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ

  1. แพทย์อาจจะตรวจเลือดเพื่อดูโรคประจำตัว  เช่น  น้ำตาลในเลือด  ไขมันในเลือด  การทำงานของตับและไต  ตรวจคัดกรองหามะเร็งต่อมลูกหมาก  และตรวจหาระดับฮอร์โมนเพศชาย  ในผู้ป่วยที่มีความต้องการทางเพศลดลงด้วย
  2. การตรวจหาความผิดปกติในเส้นเลือดของอวัยวะเพศ (Penile Doppler ultrasound)  ซึ่งจะตรวจในผู้ป่วยบางกรณีที่มีปัญหาขั้นรุนแรง  โดยเป็นการตรวจวัดการทำงานของเส้นเลือดแดง  และเส้นเลือดดำในอวัยวะเพศ  เพื่อหาสาเหตุและทางเลือกในการรักษาอื่นๆ

การรักษา

เริ่มด้วยการที่ต้องรักษาโรคประจำตัว  เช่น  ควบคุมน้ำตาลในเลือด  ไขมันในเลือด  และความดันโลหิต  งดสูบบุหรี่  งดดื่มสุรา  นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ  ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  และการลดน้ำหนัก

ปรับเปลี่ยนยาบางตัวที่มีผลต่อภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

ถ้าผู้ป่วยมีความผิดปกติทางภาวะจิตใจ  ให้ผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์

ในผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย  ให้รักษาโดยการให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน

  1. การรักษาโดยการใช้ยา

โดยการใช้ยาในกลุ่ม PDE-5 Inhibitor เช่น  Viagra, Levitra, Cialis  โดยจะต้องรับประทานก่อนมีเพศสัมพันธ์  ประมาณ  30  นาที  –  1  ชั่วโมง  ซึ่งยาในกลุ่มนี้จะไม่สามารถใช้ร่วมกับยาในกลุ่ม  Nitrate ได้  และยาในกลุ่มนี้ผลข้างเคียง  เช่น  ใจสั่น  ปวดศรีษะ  เห็นแสงวูบวาบ  คัดจมูก  เป็นต้น

  1. การใช้กระบอกสุญญากาศ  (Vacuum device)

โดยการใช้กระบอกสุญญากาศครอบที่อวัยวะเพศ  หลังจากนั้นก็สูบอากาศออกจากท่อ  ทำให้เลือดเข้าไปในอวัยวะเพศจนอวัยวะเพศแข็งตัวได้ดี  หลังจากนั้นจึงใช้ยางรัดเพื่อไม่ให้เลือดไหลออก

  1. การใช้คลื่นเสียงความถี่ต่ำ  (Shockwave therapy)

เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่ต่ำกระแทกในเนื้อเยื่อของอวัยวะเพศ  เป็นเทคโนโลยีและทางเลือกใหม่ที่ช่วยให้เกิดการสร้างเส้นเลือดใหม่ขึ้นในอวัยวะเพศ  ทำให้เกิดการฟื้นฟูและรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ  วิธีการคือ  ใช้คลื่นเสียงความถี่ต่ำแบบแรงกระแทกจากภายนอกไปบนอวัยวะเพศ  ให้ได้รับการรักษาดังกล่าว  1  ครั้ง/สัปดาห์  เป็นเวลาติดต่อกัน  5  สัปดาห์  พบว่าช่วยให้มีการสร้างเส้นเลือดใหม่ขึ้นในอวัยวะเพศ  ทำให้เกิดการแข็งตัวของอวัยวะเพศได้ดีขึ้น

ใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเลือดไปเลี้ยงอวัยวะเพศไม่เพียงพอ  เช่น  ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ  หรือในผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการทานยาเพื่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศ  แล้วไม่ต้องการทานยาประจำ  ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้พบว่าไม่มีอาการปวดขณะที่ทำ  และไม่พบผลข้างเคียงในระหว่างและหลังการรักษาแต่อย่างใด

  1. การรักษาโดยการใช้ยาฉีด

เป็นการใช้ยาฉีดเข้าไปในอวัยวะเพศโดยตรง  ก่อนมีเพศสัมพันธ์  5-10  นาที  มีประสิทธิภาพประมาณ  70  %  เป็นกลุ่มยาพวก  prostaglandin E1  ซึ่งสามารถทำให้อวัยวะเพศแข็งตัวได้ประมาณ  1  ชั่วโมง  ซึ่งวิธีการใช้ต้องอยู่ในความดุแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

  1. การรักษาโดยการผ่าตัด

เป็นทางเลือกสุดท้ายในการรักษาผู้ป่วยหย่อนสมรรถภาพทางเพศ  เป็นการผ่าตัดใส่แกนอวัยวะเพศเทียมเข้าไปในอวัยวะเพศโดยตรง  ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่า  90  %  โดยใช้ในกรณีที่รักษาโดยวิธีการอื่นๆที่กล่าวมา  แล้วไม่ได้ผล

ให้คุณ pop ใส่ลิขสิทธิ์ว่า….

เขียนโดย…นายแพทย์นิธิ  นาวานิมิตกุล

ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะและสุขภาพเพศชาย